พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานเสวนา “งบ 65 ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา” ที่พรรคเพื่อไทย ว่า ถ้าจะพูดถึงงบประมาณก็ต้องพูดถึงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่พลเอกประยุทธ์จะกู้เพิ่มด้วย เพราะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก ทั้งนี้ แต่แรก ครม. ได้เห็นขอบ พรก. เงินกู้ 7 แสนล้าน ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ทั้งที่ รมว. คลัง เพิ่งยืนยันว่าไม่ต้องกู้เพราะมีเงินพอถึง 3.8 แสนล้านบาท แต่ก็ขอกู้เพิ่มจนได้และมากด้วย แต่พอถูกสังคมตำหนิอย่างรุนแรง และมีคนทักท้วงกันอย่างมาก รวมถึงตัวผมเองด้วย พลเอกประยุทธ์จึงลดลงมาเหลือ 5 แสนล้านบาท ยิ่งตอกย้ำการดำเนินการที่ไม่มีแบบแผน ถูกด่าจึงคิดแก้ไข บริหารด้วยการถูกด่า ทำให้สงสัยว่ามีการเตรียมการใช้เงินกู้อย่างไรถึงลดได้ทันที แต่ถึงแม้จะลดการกู้ลงแต่หนี้สาธารณะก็คงจะยังพุ่งสูง และจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศในอนาคต
ดังนั้น การวิเคราะห์วิจารณ์ งบ 65 จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์วิจารณ์ พรก. เงินกู้ 5 แสนล้าน ควบคู่กันไปด้วย โดยการใช้เงินทั้ง 2 จำนวนดังกล่าวจะสะท้อนถึง 5 ปัญหาดังนี้
1. ล้มเหลว งบประมาณปี 65 สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากการที่พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศ 7 ปี แต่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมากมาตลอด ทำให้การเก็บรายได้ไม่เข้าเป้ามาเกือบทุกปี จึงส่งผลให้ต้องปรับลดงบประมาณในปี 65 ลง 1.85 แสน หรือ 5.6% แต่ก็ต้องมาออก พรก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติม ซึ่งทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก
2. เสื่อมถอย เพราะกู้มากกว่าลงทุน ซึ่งนอกจากจะลดงบประมาณแล้วยังมีการกู้มากกว่าลงทุน คือ กู้มาใช้ ซึ่งปกติงบประมาณจะต้องมีการลงทุนมากกว่ากู้เพื่อจะได้มีรายได้ในอนาคตและประเทศจะได้พัฒนา นอกจากจะกู้ 7 แสนล้าน แต่ลงทุนแค่ 6 แสนกว่าล้านแล้ว ยังจะมี พรก. กู้อีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งเเรียกได้ว่ากู้มาใช้เกือบทั้งหมดไม่ได้มีการลงทุนเลย หรือ อาจจะมีการลงทุนบางส่วนจาก 1.7 แสนล้านบาทที่จะฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปใช้ทำอะไรบ้าง จะล้มเหลวเหมือนการใช้ในอดีตอีกไหม
3. หนี้ล้น งบประมาณปี 2565 จะต้องกู้ 7 แสนล้านบาท และจะมี พรก. เงินกู้อีก 5 แสนล้านบาท การเก็บรายได้ปีนี้ก็จะลดลงอีก กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งขึ้นเกิน 9 ล้านล้านบาท และ จะทะลุเพดานที่ 60% ซึ่งจะไทยจะมีปัญหาการใช้หนี้เพราะรัฐมีรายได้เพียง 15% ของจีดีพี ซึ่งต่ำมาก การที่กู้มากจนได้ฉายา “ดีแต่กู้” หรือ “รัฐบาลเวรี่กู้” แต่ไม่มีปัญญาหารายได้จะนำประเทศสู่วิกฤติเศรษฐกิจซ้อนวิกฤติโควิดต่อเนื่องระยะยาวในอนาคต
4. ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ การใช้งบประมาณ ปี 65 ยังติดกรอบเดิมที่มีการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพมาตลอด 7ปี พิสูจน์ได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มขึ้นซึ่งหมายความว่า ใช้เงินมากใช้แล้วกว่า 20.8 ล้านบาท แต่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว ตลอด 7 ปี จีดีพี โตเฉลี่ยเพียง 1% กว่าเท่านั้น ซึ่งต่ำมาก อีกทั้งหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นมาตลอดทุกปี แสดงว่าประชาชนจนลงต้องกู้เพิ่มและอาจจะไม่มีปัญญาใช้หนี้แล้ว จนทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นถึง 92% แล้ว งบประมาณทางการทหาร และความมั่นคง การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมีสัดส่วนที่สูงมาก และเพิ่มขึ้นมาตลอด แม้ปีนี้งบกลาโหมจะลดลง 11,000 ล้านบาท แต่กลับมีข่าวว่าจะซ่อนการใช้เงินเพิ่มอยู่ใน พรก. 5 แสนล้านนี้ ทั้งนี้การใช้เงินนอกงบประมาณจะตรวจสอบยากเพราะไม่มีกรอบการใช้ที่ชัดเจน เปิดช่องทางให้มีการทุจริตได้ง่าย การใช้เงิน 1 ล้านล้าน คราวที่แล้วก็ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเลย ใช้แล้วเศรษฐกิจกลับยิ่งทรุด ไตรมาสแรกยังติดลบ 2.6% ยิ่งตอกย้ำความไม่มีประสิทธิภาพ
5. ไม่สามารถแยกแยะจัดลำดับความสำคัญได้ ทั้งนี้ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าพลเอกประยุทธ์ขาดความรู้ความสามารถไม่สามารถแยกแยะจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่างๆได้ จึงทำให้ประเทศย่ำแย่ได้ขนาดนี้ โดยเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง การบริหารจัดการวัคซีน ที่ยังเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน ความไม่สามารถแยกแยะจัดลำดับความสำคัญยังเป็นปัญหาของการจัดงบประมาณปี 65 ที่ควรตัดกลับไม่ตัด มาตัดในเรื่องที่ไม่ควรตัดเช่น งบการศึกษาที่ไทยต้องพัฒนาให้เด็กฉลาดขึ้น งบกระทรวงแรงงานที่คนตกงานจะมาก งบสาธารณสุขและบัตรทองที่การเจ็บป่วยของคนน่าจะมากขึ้น เป็นต้น ในขณะที่งบความมั่นคงกลับตัดน้อยมาก และสงสัยกันว่าน่าจะมีการนำเงินกู้ 5 แสนล้านไปแอบโปะให้ด้วย เป็นต้น ดังนั้นพลเอกประยุทธ์จะต้องพัฒนาวิสัยทัศน์ให้ทันโลกเพื่อจะสามารถจัดสรรงบประมาณ ให้ประเทศไทยพัฒนาเข้ากับโลกอนาคตได้
นี่เป็นปัญหาใน 5 ด้านที่สะท้อนมาจากการจัดงบประมาณปี 65 และ การกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากจะลงในรายละเอียดคงมีอีกมาก ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้รับฟังและนำไปศึกษาเรื่องเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ตนเสนอแม้อาจจะไม่ถูกใจแต่ก็ต้องถามว่าเป็นความจริงใช่หรือไม่ วิกฤตการณ์ไวรัสโควิดที่จะส่งผลให้เป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจต่อเนื่องและยาวนานพลเอกประยุทธ์จึงจะต้องวางแผนการฟื้นเศรษฐกิจให้ดี อย่าคิดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเองได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว หากไม่มีการบริหารจัดการและวางแผนให้ดีเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นได้ หรือ ฟื้นช้ามากจนประเทศอื่นจะแซงไทยไปหมด ซึ่งตอนนี้ก็โดนหลายประเทศแซงไทยไปไกลแล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนลำบากกันอย่างยาวนาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น